วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

                                              มรดกโลก

    มรดกโลก (UNESCO World Heritage Site) คือสถานที่ อันได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงเมือง ซึ่งคัดเลือกโดยองค์การยูเนสโกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่มนุษยชาติ หรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา และควรจะปกป้องสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อให้ได้ตกทอดไปถึงอนาคต 

ในปัจจุบัน มีมรดกโลกทั้งหมด 830 แห่ง ใน 138 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 644 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 162 แห่ง และอีก 24 แห่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท โดยมีการแบ่งออกเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ แอฟริกา อาหรับ เอเชียแปซิฟิก ยุโรป - อเมริกาเหนือ และ อเมริกาใต้ - แคริบเบียน 



1. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ซึ่งมีความรุ่งเรืองในอดีตช่วงใกล้เคียงกันอาณาจักรสุโขทัยถือเป็น  ราชธานีแห่งแรกของไทย เป็นศูนย์กลางความเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์ และ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว



2. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่าแก่ของไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองยาวนานถึง 417 ปี แม้ว่าภายหลังจะถูกทำลายลงจากภัยสงคราม แต่ยังคงเหลือโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง และ ความมีอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษของชาวกรุงศรีอยุธยา
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูซิเนีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว



3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง 
ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ซึ่งมีวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้น ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวัน-ออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน องค์การยูเนสโก จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2535 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว


4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง
 ผืนป่าอันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร หรือ กว่า 3,800,000 ไร่ อยู่ภายในเขต จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดตาก และ จังหวัดกาญจนบุรี
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2534 และเป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นมรดกโลก โดยมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ คือ เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด ในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทางธรณีวิทยา หรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ และ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือ ที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย




















5. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดคือ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ มีพื้นที่ป่ารวมกันเกือบ 4,00,000 ไร่ หรือ ประมาณ 6,200 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ "ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีคุณสมบัติ ในข้อที่ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ




























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น